FundTalk – สรุปกันอีกครั้ง: หลักเกณฑ์และกลเม็ดการลงทุนใน RMF & LTF

แชร์บทความนี้

เข้าใกล้โค้งสุึดท้ายของปี 2554 แล้ว หลายท่านคงได้กำไรจากตลาดหุ้นกันไม่น้อย และกำลังหาจังหวะลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีำพ (Retirement Mutual Fund: RMF) และ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Mutual Fund: LTF) เพื่อเพิ่มพูนเงินออมและประหยัดภาษีเงินได้ประจำปี  และเพื่อให้ตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจขึ้น จึงขอสรุปหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทุนใน RMF & LTF มาให้เป็นข้อมูลอีกครั้งหนึ่งครับ

○ RMF

สินทรัพย์ที่ RMF จะไปลงทุน เป็นได้ทั้งตราสารหนี้ (พันธบัตรภาครัฐ และหุ้นกู้ภาคเอกชน) สินค้าโภคภัณฑ์ และ หุ้นสามัญ

เงื่อนไขการลงทุน

  • เริ่มลงทุนแล้วต้องลงต่อเนื่องทุกปี
  • ลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้แต่ละปี หรือ 5,000 บาท แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า
  • ลงทุนขั้นสูงไม่เกิน 15% ของเงินได้แต่ละปี โดยเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (Government Pension Fund) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • ต้องถือหน่วยลงทุนจนครบอายุ 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี (อายุเกิน 55 แต่ยังลงทุนไม่ถึง 5 ปี ก็ยังขายไม่ได้)

○ LTF

สินทรัพย์ที่ LTF จะไปลงลงทุน จะเป็นตราสารทุน และ อนุพันธ์ของตราสารทุน (เพื่อลดความเสี่ยง) เท่านั้น ไม่มีตราสารหนี้

เงื่อนไขการลงทุน

 

  • ไม่ต้องลงทุนทุกปี
  • ลงทุนขั้นสูงไม่เกิน 15% ของเงินได้แต่ละปี และไม่เกิน 500,000 บาท
  • ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ต่อเนื่อง 5 ปีปฏิทินจึงจะขายหน่วยลงทุนได้ (ในทางปฏิบัติ 3 ปีกว่าก็ขายไ้ด้แล้ว เช่น เริ่มลงทุนวันที่ 30 ธันวาคม 2554 สามารถขายได้ในวันที่ 2 มกราคม 2558 รวมเวลาจริง 3 ปี 4 วัน)

○ ผลจากการผิดเงื่อนไขภาษี

  • ต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมด
  • ต้องนำกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนไปรวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีด้วย

○ การสับเปลี่ยนกองทุน

  • สามารถทำได้ในกองทุนลักษณะเดียวกัน โดยไม่จำกัดว่าต้องอยู่ในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเดียวกัน เช่น มี LTF ที่ บลจ.ABC สามารถย้ายไปถือ LTF ที่ บลจ.XYZ ได้ แต่จะย้ายไปถือ RMF ไม่ได้ ซึ่งในกรณี RMF ก็เช่นเดียวกัน
  • ผู้ถือ RMF ประเภทตราสารทุน สามารถขายและไปซื้อ RMF ประเภทตราสารหนี้ได้ โดยไม่ผิดเงื่อนไขภาษี

○ กลเม็ดในการลงทุนใน RMF & LTF

  • คนส่วนใหญ่มักซื้อกองทุน RMF & LTF ในช่วงเดือนธันวาคม (อยากรอดูให้แน่ใจ) ทำให้หุ้นมักขึ้นในช่วงนั้นเ้ช่นกัน (ตั้งแต่ปี 2543  SET เฉพาะในเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.99%  และจำนวนปีที่ SET ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนนี้มีถึง 7  ใน 10 ปี ) ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จึงเป็นนาทีทองในการซื้อ RMF & LTF (ซื้อก่อนหุ้นจะขึ้น) และเมื่อพอใจในมูลค่าที่เพิ่มขึ้นแล้ว หากเดิมถือกอง RMF อยู่ ก็สามารถก็สลับกองหุ้นไปเป็นกองตราสารหนี้ที่ความผันผวนต่ำกว่าและมีผลตอบแทนแน่นอนกว่าได้
  • ทางด้าน LTF เอง สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการลงทุนยาวจนอายุ 55 และไม่ชอบความเสี่ยงในกองทุนหุ้นล้วน ๆ ปัจจุับันมี LTF ที่ประกอบด้วยทั้งหุ้นและอนุพันธ์ผสมกัน (ซึ่งปกติมีแต่หุ้นล้วน) เพื่อขจัดความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคา (อนุพันธ์จะวิ่งสวนทางกับราคาหุ้น) เช่น 1-SMART LTF ของ บลจ.วรรณ (http://www.one-asset.com/ThailandMutualFund/Prospectus/FF010069.pdf)  หรือ SCBLTS ของบลจ.ไทยพาณิชย์ (http://www.scbam.com/v1/pdf/old_download/summary_pro/lts_imp.pdf) หรือ KSDLTF ของบลจ.กสิกรไทย (http://www.kasikornasset.com/th/pages/KSDLTF.aspx) สามารถใช้เป็นที่เก็บรักษามูลค่าของ LTF เมื่อเรากลัวหุ้นตกได้

อ้างอิง:

  • ช้อมูล SET Index ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2543 จากโปรแกรม eFin Smart Portal ของ eFinanceThai.com
  • หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนภาษีจากกรมสรรพากร  http://www.rd.go.th/publish/557.0.html

ติดตามบทความอื่นๆ ของผู้เขียน ได้ที่นี่: http://fundmanagertalk.com/author/keng

 

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
คุณ ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ (SJ, Keng) ปัจจุบันทำงานด้านการลงทุนอยู่ที่บริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) (Bangkok First Investment & Trust Public Company Limited หรือ "BFIT") ในตำแหน่ง Head of Investment Advisory Department ดูแลงานระดมทุนของบริษัท ควบกับตำแหน่ง Investment Committee ดูแลเงินลงทุนในหุ้น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ และบริหารสภาพคล่องของธุรกิจผ่านธุรกรรมในตลาดเงิน ในด้านคุณวุฒิ สอบผ่านหลักสูตร Certified Investment & Securities Analyst Level 2 (CISA II) ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เป็นนักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ และผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุน รวมถึงได้รับอนุญาตจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ให้เป็นผู้ค้าตราสารหนี้ขึ้นทะเบียน SJ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท (MBA, Finance) จาก The University of Western Australia และเคยทำงานวิเคราะห์สินเชื่อลูกค้าเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
Posts created 24

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top