Fund Talk – NAV สูงต่ำ เลือกกองทุนไหนดี?

แชร์บทความนี้

เนื่องจากกองทุนรวมในตลาด มีเยอะแยะมากมาย หลากหลายนโยบายแตกต่างกันไป สิ่งแรกที่เราต้องพิจารณาในการคัดสรรค์เลือกกองทุนนั้นๆมาไว้ในพอร์ตก็คือ นโยบายและวิธีการลงทุนที่สอดรับกับความต้องการของนักลงทุน สิ่งนี้จะเป็นเครื่องมือในการประเมินโอกาสในการทำกำไรอนาคต ไม่ใช่ผลการดำเนินงานย้อนหลังแต่อย่างใด (เพราะในหนังสือชี้ชวน เขาบอกเอาไว้แล้ว ผลการดำเนินงานอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต ฮาๆ)
อุปสรรคแรกที่นักลงทุนต้องเผชิญก็คือ เมื่อเลือกกองทุนมาหลายๆกองทุน กลับพบว่า นโยบายการลงทุนไม่ได้แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน จึงทำให้ตัดสินใจเลือกลงทุนลำบาก ครั้นไปดูผลการดำเนินงานในอดีต กองทุนที่มีผลการดำเนินงานในอดีตดีๆ ส่วนใหญ่ก็มี NAV ที่แพงกว่าไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บ่อยครั้ง นักลงทุนมองกองทุนรวมเป็นหุ้นตัวหนึ่งในตลาด เมื่อพบว่าราคา NAV แพงกว่ากองทุนอื่น ก็เลือกกองทุนที่มีราคา NAV ต่ำกว่า เพราะได้จำนวนหน่วยที่มากขึ้น และคาดว่าในอนาคตราคาน่าจะวิ่งขึ้นไปเท่ากับ หรือใกล้เคียงกับกองทุนที่มีราคา NAV สูงกว่า
สาเหตุที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองอย่างนี้ก็เพราะ เราไม่เห็นว่ากองทุนในตลาดพวกนี้แตกต่างกันอย่างไร มันก็กองทุนเหมือนๆกันนั้นหล่ะ ผู้จัดการกองทุนถึงแม้หน้าตาไม่เหมือนกัน เก่งไม่เท่ากัน แต่คงไม่มีใครสามารถชนะตลาดไปตลอด หรือถ้าให้ผมลองนึกมั่วๆขึ้นมาดู สาเหตุก็อาจจะเป็นเพราะ ลึกๆแล้วเราแอบเชียร์ และแอบสงสารพระรองอย่างในซีรี่ย์เกาหลีหลายๆเรื่องชัวร์เลย ปัญหาก็คือ เราควรเอาเรื่องประเด็น NAV ถูก หรือ แพง เข้ามาตัดสินใจด้วยหรือไม่ และถ้าเอามาตัดสินใจ ควรเลือกอย่างไรดี?
คำตอบก็คือ “NAV สูงหรือต่ำ ถูกหรือแพง ไม่ควรมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน”  ขอยกตัวอย่าง กองทุน A ราคา PAR 10 บาทต่อหน่วย เปิดขายกองทุนพร้อมกับ กองทุน B ราคา PAR ที่ 10 บาทเท่ากัน ทั้งสองกองทุนต่างลงทุนในกลุ่มหุ้นในไทย โดยมีนโยบายการลงทุนเหมือนกันทุกประการ ผ่านไป 1 ปี กองทุน A มีราคา NAV อยู่ที่ 12 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ NAV ของกองทุน B อยู่ที่ 13 บาทต่อหน่วย หากคิดเป็น % ผลตอบแทน ก็จะเท่ากับ 20% และ 30% ตามลำดับ หรืออีกนัยหนึ่ง นั้นหมายถึง กองทุน B มีผลการดำเนินงานย้อนหลังที่ดีกว่า กองทุน A นั้นเอง หากคุณต้องเลือกลงทุนระหว่างกองทุน A กับ กองทุน B โดยใช้ผลการดำเนินงานย้อนหลังมาพิจารณาตัดสินใจ คุณจะเลือกลงทุนในกองทุนไหน
ยกตัวอย่างให้ชัดขึ้นไปอีกครับ สมมติ กองทุน C จัดตั้งกองทุนเมื่อ วันที่ 01/01/2007 และกองทุน D จัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 01/01/2008 ทั้งสองกองทุนลงทุนในกลุ่มหุ้นในไทยเหมือนกัน ปัจจุบันราคากองทุนทั้งสองอยู่ที่ 11 บาทต่อหน่วย และ 10.7 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ เราจะเลือกลงทุนในกองทุนไหนดีครับ? หากดูที่ผลตอบแทนต่อเงินต้น เราก็คงเลือกลงทุนในกองทุน C เพราะได้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่…. สังเกตุไหมครับ กองทุน C จัดตั้งขึ้นมาก่อนกองทุน D ได้ 1 ปีเต็มๆ ดังนั้น NAV ของกองทุนจะสูงกว่า ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ก็ออกสตาร์ทไปก่อนตั้ง 1 ปี จะไม่ให้ NAV ขยับไปไหนเลยหรือ ดังนั้นการวัดผลการดำเนินงานย้อนหลังกองทุนเปรียบเทียบกัน ก็ควรวัดในช่วงเวลาเดียว เพื่อไม่ให้เกิดความเอนเอียงในการตัดสินใจลงทุน
ตัวอย่างสุดท้าย กองทุน E ราคา NAV ปัจจุบันอยู่ที่ 25 บาทต่อหน่วย ส่วนกองทุน F ราคา NAV อยู่ที่ 40 บาทต่อหน่วย หากนโยบายเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มเดียวกัน ผลการดำเนินงานย้อนหลังอยู่ที่ 12% และ 15% ตามลำดับ เราควรเลิอกลงทุนในกองทุนไหน มีบางคนก็นึกเถียงผมในใจว่า ถ้าผมเลือกลงทุนในกองทุน E ผมได้จำนวนหน่วยมาถือเยอะกว่าลงทุนในกองทุน F เกือบๆเท่าตัว ได้เปรียบกว่าเห็นๆ อย่าไปเข้าใจอย่างนั้นเชียวนะครับ เพราะผิดถนัดเลยล่ะ ผลตอบแทนที่คำนวนมาในรูปของร้อยละ (%) นั้นมองที่กำไรต่อเงินต้นซึ่งไม่เกี่ยวเลยว่าเราจะได้จำนวนหน่วยมากหรือน้อย ถึงแม้จำนวนหน่วยจะน้อย แต่ถ้า NAV ของกองทุนนั้นขยับขึ้นแรงกว่า ก็หมายถึงผลตอบแทนเป็นรูปตัวเงินที่สูงกว่าเช่นกัน

จากทั้ง 3 ตัวอย่าง ประเด็นที่ควรพิจารณาเลือกกองทุนในแต่ละตัวอย่าง จะเห็นว่า ไม่เกี่ยวข้องกับราคา NAV เลยว่าจะสูงหรือต่ำแค่ไหน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน, นโยบายการลงทุนที่เหมาะกับนักลงทุน , ความเป็นมืออาขีพของ บลจ. และผู้จัดการกองทุนของกองทุนที่เราลงทุน อ้าวๆ มีคนเริ่มเถียงในใจกันอีกแล้วว่า ฉันไม่ได้ดูแค่นี้นะ! ค่าธรรมเนียมการจัดการ และค่าธรรมเนียมการซื้อขายก็สำคัญไม่แพ้กัน

รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เอาไว้มีโอกาสจะมาไขข้อข้องใจให้อีกที

โชคดีในการลงทุนครับ

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
คุณ ชยนนท์ รักกาญจนันท์ รู้จักกันในนามแฝงในเว็บบอร์ดพันทิพย์ ห้องสินธร ว่า “Mr.Messenger” ได้แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงทุนทั้งในหุ้น และกองทุนรวมมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็น Strategy and Portfolio Performance Section Head ของฝ่ายธนบดี ธนาคารกรุงศรี
Posts created 16

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top