เรียนรู้จากประวัติศาสตร์… 12 ปีประเทศไทยกับกองทุน FIF

แชร์บทความนี้

สวัสดีครับ ปี ค.ศ. 2014 จัดว่าเป็นอีกปีที่กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือ FIF ได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยเป็นอย่างมาก หากพอจำกันได้กองทุน FIF นั้นเริ่มเกิดขึ้นในปี 2002 หรือเมื่อ 12 ปีที่แล้วโดยตอนนั้นมี บลจ. 5 แห่งเป็นผู้เสนอขายกองทุน FIF ในรุ่นแรกในวงเงินการเสนอขายที่ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มาจนถึงวันนี้จำนวนกองทุน FIF ในบ้านเรามีมากมายหลายร้อยกอง ถ้ารวมกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ระบุอายุเวลาด้วยผมคิดว่าอาจมีการออกกอง FIF ในเมืองไทยไปแล้วเป็นหลักพันกอง โดยล่าสุดกองทุนรวม FIF ในประเทศไทยมีขนาดใหญ่ถึงกว่า 8 แสนล้านบาท หรือกว่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าตลาดกองทุนรวมในประเทศไทย เรียกได้ว่ากว่าทศวรรษที่ผ่านมาการเติบโตของกองทุนรวม FIF ทั้งด้านอุปทานที่มีหลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และความรู้ความเข้าใจของนักลงทุนได้พัฒนาไปมากทีเดียวครับ

 

ในปี 2002 กองทุน FIF รุ่นแรกที่เสนอขายในตอนนั้นมีทั้งกองทุนหุ้นโลก กองทุนหุ้นกู้แปลงสภาพ กองทุนตราสารหนี้เอเชีย รวมถึงกองทุน Global Balance ในช่วงปีแรก ๆ กองทุน FIF ยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไรนักเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใหม่มาก และนักลงทุนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจมากนัก จนถึงช่วงปี 2004 – 2005 ที่ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างจะซบเซา ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกให้ตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นคือในปี 2005 – 2006 จึงกลายเป็นช่วงที่กองทุน FIF ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะกองทุน FIF ประเภทที่ลงทุนในหุ้นโลก หุ้นเอเชีย นอกจากนี้ยังมีกองทุน FIF ตราสารหนี้ที่ระบุอายุเวลาการลงทุนที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากมาจนถึงปัจจุบัน

 

ต่อมาในปี 2008 ซึ่งมีวิกฤต Hamburger ในช่วงเวลานั้นสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกปรับตัวลงอย่างหนักไม่ว่าจะหุ้นไทย หรือหุ้นต่างประเทศ กองทุน FIF ต่างประเทศหลายตัวที่เคยสร้างผลกำไรกลับได้รับผลขาดทุนอย่างหนัก บางกอง NAV ลงมาเกินครึ่งก็มี เรียกว่าผลกระทบเกิดขึ้นระดับน้อง ๆ เมื่อเทียบกับการปรับตัวลดลงของกองทุนหุ้นบ้านเราในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเลยทีเดียว เมื่อวิกฤต Hamburger ผ่านพ้นไป ความนิยมในกองทุน FIF ประเภทเสี่ยงสูงอย่างหุ้นต่างประเทศก็ได้ลดลงไปมากพอสมควร ประกอบกับตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2009 – 2012 ทำให้นักลงทุนเริ่มหันกลับไปสนใจกองทุนหุ้นในประเทศมากกว่า

 

มาจนถึงปี 2013 ซึ่งตลาดหุ้นไทยกลับมาผันผวนอีกครั้ง โดยตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงไปประมาณ 7% รวมถึงมีปัญหาเรื่องวิกฤตการเมืองในประเทศ ขณะที่หุ้นต่างประเทศอย่างอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่นกลับสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่ามาก ส่งผลให้กองทุน FIF กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในปี 2014 โดยเฉพาะกองทุนหุ้นต่างประเทศ ที่เติบโตขึ้นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นกองทุนเปิด หรือกองทุนหุ้นต่างประเทศประเภททริกเกอร์ฟันด์

flags2

เล่าประวัติศาสตร์กันมาซะยาวถึงตรงนี้ ข้อสังเกตที่ผมอยากฝากไว้คือในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีหลายปีที่ผลตอบแทนของกองทุนหุ้นต่างประเทศ ไปในทิศทางตรงข้ามกับกองทุนหุ้นไทย ดังนั้นประโยชน์ของการลงทุนใน FIF นอกจากการสร้างโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีแล้ว ก็คือการกระจายการลงทุน (Diversification) หากนักลงทุนไทยมีกองทุนต่างประเทศในพอร์ตในปี 2004 หรือ 2013 ซึ่งตลาดหุ้นไทยติดลบ ขณะที่หุ้นต่างประเทศเป็นบวก การลงทุนในต่างประเทศจะสามารถช่วยรักษาเงินลงทุนโดยรวมของพอร์ตของท่านนักลงทุนได้อย่างมาก ขณะที่การพยายามจับจังหวะเข้าลงทุนในกองทุนหุ้น FIF ต่างประเทศกลับทำได้ค่อนข้างยาก เพราะบ่อยครั้งที่ผ่านมา นักลงทุนมักจะเข้าซื้อลงทุนหลังจากปีที่ตลาดปรับขึ้นไปพอสมควรแล้ว และขายขาดทุนหลังจากปีที่ตลาดปรับตัวลดลงมาก ๆ สรุปคือการจับจังหวะ “ซื้อถูก ขายแพง” ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ “พูดง่าย แต่ทำยาก” ในทางปฏิบัติ บ่อยครั้งที่เราเห็นตลาดใด ๆ ขึ้นต่อเนื่องมาซักช่วงเวลาหนึ่งก็มักจะอดไม่ได้ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดนั้น เช่นเดียวกันเมื่อตลาดใด ๆ ตกแรง ๆ นักลงทุนจำนวนมากก็มักจะถอดใจและถอนตัวออกจากตลาดนั้น แต่หากวิเคราะห์ดูให้ดีหากเราตัดสินใจตรงกันข้ามกับสิ่งที่ทำไปอาจกลายเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดก็เป็นได้ครับ

 

ประวัติศาสตร์12 ปีผ่านไป อนาคต 12 ปีต่อจากนี้ผู้เขียนเชื่อว่าตลาดการลงทุนในกองทุนรวม FIF จะมีขนาดใหญ่ขึ้นอีกมาก และมีความหลากหลายมากขึ้น จากความรู้ความเข้าใจของนักลงทุนที่มีมากขึ้น รวมถึงอนาคตที่จะมีการเปิดเสรีตลาดกองทุน ที่จะเปิดโอกาสให้มีกองทุน รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนอีกมากจากต่างประเทศเข้ามาเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนไทย ผู้เขียนหวังว่าประวัติศาสตร์เรื่องกองทุนรวม FIF ที่นำมาเล่าในวันนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนในการนำกองทุน FIF มาประยุกต์ใช้ในการจัดพอร์ตการลงทุนของท่านให้มีผลตอบแทนที่ดีขึ้น และมีความเสี่ยงที่ลดลงในระยะยาวครับ

 

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top