คำถามสำคัญอันดับต้นๆ ของนักลงทุนทั้งมือใหม่และมืออาชีพก็คือ ดัชนีจะปรับขึ้นและลงเมื่อไร หรือไม่ก็ ควรซื้อและขายหุ้นตัวนี้ที่ราคาเท่าไร โดยทั่วไปแล้ว เราสามารถพิจารณาจาก 2 แนวทาง คือ 1) ประเมินมูลค่าพื้นฐาน และเปรียบเทียบกับราคาตลาด เพื่อตัดสินใจซื้อ หากราคาตลาด < มูลค่าพื้นฐาน และตัดสินใจขาย หากราคาตลาด > มูลค่าพื้นฐาน และ 2) ดูจากเครื่องมือทางเทคนิก (Technical Tool) ซึ่งสามารถบอกจุดซื้อและขายได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ลงทุนหลายปีที่ผ่านมา พบว่าหลายครั้งการลงทุนโดยเน้นการประเมินมูลค่าพื้นฐานก็ไม่แม่นยำเสมอไป และเมื่อเวลาผ่านไป มูลค่าพื้นฐานที่เราใช้ตัดสินใจในวันแรกก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เป็นผลให้ซื้อหุ้นแล้วราคาไม่วิ่ง หรือพลิกกลับลงมา และในบางครั้งก็พบว่าขายไปแล้วราคากลับวิ่งต่อไปอีกไกล
ที่่ผ่านมาผมได้ลองศึกษา Technical Tool ตัวหนึ่งซึ่งให้สัญญาณค่อนข้างแม่นยำ (ในความรู้สึกของผม) นั่นก็คือ Moving Average Convergence/Divergence หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า MACD ซึ่งพัฒนาโดย Mr.Gerald Appel ในช่วงปลายยุค ’70 ที่สหรัฐอเมริกา
MACD จะประกอบด้วยกราฟสองเส้น คือเส้น MACD และเส้น Signal ตามภาพ ซึ่งจะแสดงแรงเหวี่ยง (Momentum) ของราคาีที่เปลี่ยนไปตามระยะเวลา
1) เส้น MACD (เส้นสีชมพูอ่อน) จะเกิดจากค่า 12-day Exponential Moving Average (หรือเรียกว่า EMA) ลบด้วย 26-day EMA โดย EMA จะมีหลักการเหมือนกับการหา Weighted Moving Average ทั่วไป แต่จะคำนวณด้วยฟังก์ชั่นยกกำลัง (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง EMA ได้ที่นี่ http://en.wikipedia.org/wiki/Moving_average#Exponential_moving_average)
2) เส้น Signal (เส้นสีฟ้า) คือค่า 9-day EMA ของเส้น MACD อีกต่อหนึ่ง
เมื่อนำทั้งสองเส้นมาวิ่งทับกัน โดยให้เส้น Signal (สีฟ้า) เป็นเส้นยืน เมื่อใดที่เส้น MACD (สีชมพูอ่อน) ตัดทะลุเส้น Signal (สีฟ้า) ลงมา ถือว่า MACD ส่งสัญญาณให้ขาย และหากเส้น MACD ตัดทะลุเส้น Signal ขึ้นไป ถือเป็นสัญญาณให้ซื้อ
ผมได้ดึงข้อมูล MACD ของ SET Index ย้อนหลังไป 20 ปี และของ SET50 Index ย้อนหลังไป 14 ปี (SET50 Index เริ่มมีในปี 1996) เพื่อทดสอบว่า สัญญาณ MACD ที่ส่งออกมาตลอดระยะเวลานั้น ให้สัญญาณถูก (ทำตามแล้วได้กำไร) มากน้อยแค่ไหน
.
1) MACD จะให้สัญญาณถูกต้องประมาณ 45% (ผิดประมาณ 55%)
2) การทำตาม MACD จะให้กำไรสูงกว่าการซื้อแล้วถือ (Buy-and-Hold) อย่างมาก
3) หากเชื่อตาม MACD ตลอด 20 ปี ทั้งขาซื้อ และขา Short (สมมติว่าใช้ Futures เข้าช่วยด้วย) จะได้กำไีรมากกว่าการเล่นฝั่งซื้ออย่างเดียว (ขายแล้วไม่ Short Futures ตามลงมา) ถึงประมา๊ณ 2 เท่า (เำพราะได้ทั้งขาขึ้นและขาลง)
4) การที่ MACD มีโอกาสผิดถึง 55% แต่ัยังเอาชนะการ Buy-and-Hold ได้อย่างถล่มทลาย เนื่องจากครั้งที่มันส่งสัญญาณผิด จะทำให้เราขาดทุนเฉลี่ยเพียง 21.35 จุด (กรณี SET Index) และคราวที่มันส่งสัญญาณถูก จะให้กำไรถึง 49.95 จุด เมื่อคำนวณหาค่าที่คาดหวัง (กำไร x โอกาส) พบว่า การเชื่อตาม MACD แต่ละครั้งจะให้กำไรโดยเฉลี่ย 10.53 จุด
5) การที่ MACD ส่งสัญญาณผิดแต่ยังขาดทุนไม่มาก ก็เพราะว่า MACD มักจะส่งสัญญาณผิดเวลาที่ตลาด Sideway ขึ้นลงไม่มาก
ในขั้นต่อไป ผมอยากจะลองทำ Back Testing กับหุ้นรายตัว ทั้งหุ้นใหญ่ กลาง เล็ก และหุ้นเก็งกำไร เพื่อให้เห็นเอกลักษณ์ของหุ้นแต่ละแบบ และในขั้นก้าวหน้ากว่านั้นผมก็จะลองทำ Back Testing กับ Technical Tool อื่นๆ เช่น DMI และ Stochastic เพื่อดูว่าเครื่องมือไหนจะสร้างผลกำไรได้มากที่สุดครับ (อาจจะดีกกว่า MACD ก็ได้)
แต่เหนืออื่นใด… วัตถุประสงค์ของบทความนี้ ไม่ได้อยู่ที่การนำเสนอผลการคำนวณอย่างเข้มข้น แต่อยู่การชี้ให้เห็นความน่าสนใจของ MACD ในฐานะที่เป็น Technical Tool ทีใช้ได้ดี “ตัวหนึ่ง” ในอีกหลายๆ ตัว ส่วนการทำ Back Testing ก็เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับ MACD ครับ 🙂