ในระยะหลังเห็นนักลงทุนไทยเริ่มใส่ใจกับการ “จัดพอร์ต” มากขึ้น จากเดิมที่เน้นเลือกลงทุนเป็นกองทุนรายกอง หุ้นรายตัว มาเป็นการจัดพอร์ตการลงทุนให้ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละคน ในฝั่งของสถาบันการเงินก็เช่นกัน มีบริการการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนที่เป็นระบบมากขึ้นโดยการนำวิธีการ Asset Allocation ไปนำเสนอและ “ลงมือทำจริง” กับพอร์ตของนักลงทุนอย่างจริงจัง ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ดีและสำคัญมากในวงการลงทุนบ้านเรา การศึกษาทางวิชาการที่ทำขึ้นหลายครั้งในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาก็เป็นตัวยืนยันที่ชัดเจนว่าผลตอบแทนกว่า 90% ของการลงทุนมาจากการจัดสรรสินทรัพย์เพื่อการลงทุน (Asset Allocation)และน้อยกว่า 10%ของผลตอบแทนที่มาจากการเลือกลงทุนรายหลักทรัพย์ (Securities Selection)บทความฉบับนี้ผมตั้งชื่อว่า “The Ultimate Investment Solutions” ซึ่งเป็นแนวทางการจัดพอร์ตแบบมือโปรที่เน้นการสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้มากขึ้นจากแนวทางการจัดพอร์ตแบบดั้งเดิม รวมถึงมีการควบคุมความเสี่ยงที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม
Advanced Asset Allocation
การจัดสรรสินทรัพย์เพื่อการลงทุนแบบดั้งเดิมโดยมากจะเป็นการนำสินทรัพย์ชนิดต่าง ๆ มาประกอบกันเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยง โดยจัดเป็นแผนการลงทุน ตามระดับความเสี่ยง เช่น แบบระมัดระวัง แบบเสี่ยงปานกลาง แบบเสี่ยงสูง เป็นต้น โดยแต่ละแบบจะมีการระบุอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง ความเสี่ยงในการลงทุนที่มักจะใช้ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเป็นตัวชี้วัด และกำหนดความเป็นไปได้ของผลตอบแทนในกรณีฐาน กรณีดี กรณีแย่ เป็นต้น การจัดพอร์ตตามวิธีนี้เป็นแนวทางที่นำเสนอกันโดยทั่วไปโดยหลาย ๆ สถาบันการเงินบ้านเราในปัจจุบัน
สำหรับแนวทางการจัดพอร์ตแบบ “The Ultimate Investment Solutions” ที่นำมาเสนอในวันนี้เป็นการจัดพอร์ตที่เพิ่ม “เป้าหมายการลงทุน” ที่ชัดเจนมากขึ้น รวมไปถึงการกำหนดระดับความเสี่ยงที่ชัดเจนกว่าการใช้ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเป็นตัวชี้วัดเพียงอย่างเดียว และมีเป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากแนวทาง Asset Allocation แบบดั้งเดิม โดยผมของแบ่งออกเป็น 3 แผนการลงทุน ดังนี้
แผน Enhanced Capital Preservation
เป็นการจัดพอร์ตแบบมุ่งเน้นรักษาเงินลงทุนเป็นเป้าหมายหลัก แต่ก็ยังคงเน้นการแสวงหาผลตอบแทนในระดับสูงควบคู่ไปด้วย โดยระบุให้ชัดเจนว่ามีระยะเวลาการลงทุนกี่ปี และจัดสัดส่วนการลงทุนในส่วนตราสารหนี้ เพื่อให้สร้างรายได้เพียงพอที่จะรักษาเงินลงทุนในกรณีที่ส่วนสินทรัพย์เสี่ยงสูงปรับตัวลงมาก ๆ เช่นหากมีระยะเวลาการลงทุน 3 ปี และลงทุนตราสารหนี้ได้ปีละประมาณ 3% คำนวณจากสถิติในอดีตจะพบว่าส่วนสินทรัพย์เสี่ยงสูงมีโอกาสที่จะขาดทุนได้มากที่สุด 33% จากระยะเวลาการถือครอง 3 ปี สัดส่วนการลงทุนจะอยู่ที่ตราสารหนี้ 77.5% และตราสารทุน 22.5% และมีช่วงความเป็นไปได้ของผลตอบแทนที่ 0 – 37.5% ในระยะเวลาการลงทุน 3 ปีและมีผลตอบแทนในกรณีฐานที่ประมาณ 6% ต่อปีซึ่งสูงกว่าแนวทางการจัดพอร์ตแบบดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ยังคงสามารถรักษาเงินลงทุนของนักลงทุนได้ดีควบคู่กันไปด้วย
แบบ Enhanced Moderate Allocation
เป็นการจัดพอร์ตแบบเสี่ยงปานกลางโดยกำหนดความเสี่ยงหรือความผันผวนของพอร์ตประมาณ 2 ใน 3 ของตลาดหุ้น และมีโอกาสขาดทุนสูงสุดประมาณไม่เกิน 10-15 % ของเงินลงทุนสำหรับระยะเวลาการถือครอง 3 ปี โดยมีช่วงความเป็นไปได้ของผลตอบแทนประมาณ -15% ถึง 50% สำหรับระยะเวลาการลงทุน 3 ปี และมีเป้าหมายผลตอบแทนกรณีฐานประมาณ 10% ต่อปีซึ่งใกล้เคียงกับผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นโลก กานจัดพอร์ตแบบ Enhanced Moderate Allocation จะมีการใช้กลยุทธ์การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนแบบ Enhanced Core Satellite Approach (อ่าน http://fundmanagertalk.com/enhanced-core-satellite-asset-allocation/) ทั้งนี้ประโยชน์ที่จะได้รับจากแนวทางนี้คือผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่เกิดจากการกระจายการลงทุน (Diversification Benefits) และกุญแจสำคัญที่จะทำให้ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าตลาดหาใช่การทำผลตอบแทนสูง ๆ ในตลาดขาขึ้น แต่กลับเป็นการมุ่งเน้นรักษาเงินลงทุนในยามตลาดผันผวน
แบบ Ultimate Return Target
เป็นการจัดพอร์ตแบบเน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงปานกลาง – สูง ได้แก่ตลาดหุ้นทั่วโลก โภคภัณฑ์ รวมไปถึงตราสารทางเลือกต่าง ๆ เช่น REITs หรือ High Yield Bond โดยใช้กลยุทธ์การจัดพอร์ตที่เน้นสัดส่วนของ Satellite Trading ในระดับที่สูง มีการทำ Rebalancing อย่างต่อเนื่องในส่วนของพอร์ตการลงทุนหลัก หาประโยชน์สูงสุดจากการกระจายการลงทุนเพื่อลดความผันผวนของพอร์ตในเวลาที่ตลาดหุ้นปรับลดลงรุนแรง โดยกลยุทธ์นี้จะมีระดับความเสี่ยงหรือความผันผวนของพอร์ตใกล้เคียงตลาดหุ้น มีโอกาสขาดทุนสูงสุดประมาณไม่เกิน 20 – 30% ของเงินลงทุนสำหรับระยะเวลาการถือครอง 3 ปี ขณะที่มีการตั้งเป้าหมายผลตอบแทนในระดับสูงที่ประมาณ 15-20 % ต่อปีในระยะยาว
ทั้งหมดก็เป็นแนวทางการจัดพอร์ตแบบ “The Ultimate Investment Solutions” ที่ขอนำเสนอให้กับท่านนักลงทุนในวันนี้ ขอบคุณครับ
เจษฎา สุขทิศ, CFA