หลาย ๆ ท่านที่เป็นนักลงทุนคงติดตามปัจจัย และตัวแปรต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการเติบโต GDP, เงินเฟ้อ, ค่าเงิน, ดอกเบี้ย วันนี้ผมขอนำเสนออีกตัวแปรหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวแปรอื่นที่ กล่าวมาข้างต้น นั่นคือ “ยิลด์ (Yield)” ในที่นี้หมายถึง อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล
ในเชิงคำนวณ
นิยามของ Yield (อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล / ตราสารหนี้) แบบเข้าใจง่าย คือผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่นักลงทุนจะได้รับจากการถือพันธบัตรนั้น ๆ ในกรณีที่ถือจนครบอายุ (Hold to maturity) พันธบัตรแต่ละตัวจะมีคูปองหน้าตั๋วของตัวมันเอง เช่น พันธบัตร LB145B (ครบอายุปี 2014 รุ่น B หรืออายุคงเหลือประมาณ 5 ปี) มีคูปองหน้าตั๋วอยู่ที่ 5.25% นั่นคือถ้าซื้อพันธบัตรที่ราคาพาร์ 1,000 บาท จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5.25% แต่ปัจจุบัน Yield ของพันธบัตรดังกล่าวที่ซื้อขายในตลาดอยู่ที่ระดับ 3.50% ถ้าไปดูราคาตลาดของพันธบัตรใบนี้จะพบว่าปัจจุบันอยู่ในระดับ 1,100 บาท นั่นคือราคาซื้อขายของตราสารใบนี้สูงกว่าราคาพาร์ (Premium) โดยนักลงทุนที่ซื้อต้องจ่ายเงินลงทุน 1,100 บาท และได้คูปองปีละ 5.25% (คิดเป็น 52.5 บาทต่อปี) โดยเมื่อพันธบัตรครบอายุในปี 2014 ก็สามารถนำไปไถ่ถอนคืนเงินต้นได้ที่ราคา 1,000 บาท
คิด เป็นตัวเลขคร่าว ๆ คือ ลงทุนวันนี้ 1,100 บาท อีก 5 ปีไถ่ถอนได้เงินคืน 1,000 บาท ก็คือขาดทุนปีละ 20 บาท เมื่อมารวมกับดอกเบี้ยปีละ 52.5 บาท Net แล้วคือได้ดอกเบี้ยประมาณ 32.5 บาท (เมื่อคิดรวมกับหลัก Present Value แล้วจะได้เป็นอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีหรือ Yield 3.50% พอดี)
ความสำคัญของ Yield
Yield นับเป็นดอกเบี้ยตัวหนึ่งที่สะท้อนการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในอนาคตของตลาด เช่นในปี 2008 ช่วงเดือน เม.ย. – มิ.ย. ที่ Yield พันธบัตร 2 ปี ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจากประมาณ 3% ไปถึงระดับเกือบ 5% (ตามรูป) เนื่องจากในช่วงนั้นเงินเฟ้อของไทยขึ้นไปถึงประมาณ 9% ทำให้นักลงทุนคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่แบงค์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยได้มาก ซึ่งหลังจากนั้นในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. แบงค์ชาติก็ได้ขึ้นดอกเบี้ยจาก 3.25% ไปสู่ 3.75% โดยสรุปคือ Yield มักจะเป็น Leading indicator ที่ดีของทิศทางดอกเบี้ยของประเทศนั่นเอง
นัยต่อการลงทุน และการทำธุรกิจ
ใน ภาวะปัจจุบันที่ Yield 2 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึง 2% นำหน้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยมีแนวโน้มจะปรับตัว เพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ หาก เห็นว่า Yield เป็นแนวโน้มขาขึ้นการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ก็ควรลงทุนในระยะสั้น เพื่อรอให้ Yield ขึ้นไปจนถึงระดับที่สูงกว่านี้ค่อยล็อคเงินลงทุนยาวและได้ผลตอบแทนที่สูง ขึ้น (ถ้าถือตราสารหนี้ระยะยาวแล้ว Yield ปรับขึ้น จะทำให้มูลค่าตามราคาตลาดลดลง หรือขาดทุน) ในแง่ของการลงทุนในตลาดหุ้น ถ้าแนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น เราก็ควรนำไปเป็นปัจจัยลบตัวหนึ่งสำหรับบริษัทที่มีภาระหนี้สินเยอะ หรือแม้แต่ภาคอสังหาที่ภาวะดอกเบี้ยขึ้นจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และสุดท้ายในมุมของผู้ประกอบการที่ต้องใช้สินเชื่อ เมื่อเห็นดังนี้ก็เป็นโอกาสดีที่จะทำการขอสินเชื่ออายุค่อนข้างยาว หรือพยายามจัดสินเชื่อให้เป็นดอกเบี้ยคงที่เพื่อกันความเสี่ยงของต้นทุน ดอกเบี้ยในอนาคต
สรุป แล้ววันนี้ผมจะมาบอกว่า “Yield” เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนควรติดตามและใช้ในการวิเคราะห์การลงทุน ยิ่งรู้ได้มากกว่าก็ยิ่งได้เปรียบนะครับ (ติดตามการเคลื่อนไหวของ Yield และรายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ใน http://www.thaibma.or.th/ และ http://www.bot.or.th/)
โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด