ทางเลือกอาชีพในธุรกิจบริหารเงินและจัดการลงทุน

แชร์บทความนี้

สายงานจัดการลงทุน (Buy Side)

ในสายงานจัดการลงทุน หรือที่เรามักจะเรียกกันว่าเป็นฝั่ง Buy Side มักจะเริ่มจากการเป็น “นักวิเคราะห์” แล้วค่อยๆ เติบโตในสายงานวิเคราะห์ เป็น “นักวิเคราะห์อาวุโส” หรือ “ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์” หรืออาจจะย้ายไปโตในสายงานจัดการกองทุน เป็น “ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน” หรือ “ผู้จัดการกองทุน” ซึ่งสามารถเติบโตเป็น Chief Investment Officer (CIO) หรือ “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน” ได้

ขอแนะนำให้รู้จักกับสายอาชีพด้านจัดการกองทุน ดังนี้

1. นักวิเคราะห์การลงทุน (Investment Analyst)

มีหน้าที่วิเคราะห์และประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน การลงทุน และภาวะอุตสาหกรรมในอนาคตจะเป็นอย่างไร ภายใต้สถานการณ์ที่คาดไว้ อุตสาหกรรมไหนจะได้ประโยชน์ และในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น บริษัทไหนจะได้เปรียบคู่แข่ง

เช่น หากประเมินว่า ในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง บริษัท ABC น่าจะมีกำไรเติบโตเร็วที่สุด สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ ประเมินมูลค่าหุ้นของบริษัท ABC น่าลงทุนไหม และควรจะลงทุนที่ราคาเท่าไหร่ ผลลัพธ์ที่ได้ คือ การจัดทำบทวิเคราะห์เพื่อนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุน

 

2. ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager)

มีหน้าที่ตัดสินใจว่า เงินที่ลูกค้ามอบหมายมาให้ดูแล (ซึ่งเราเรียกว่า Portfolio) นั้น ควรจะบริหารอย่างไรให้ได้ผลตอบแทนตามที่ลูกค้าคาดหวัง และไม่มีความเสี่ยงเกินกว่าที่ลูกค้าจะรับได้ โดยผู้จัดการกองทุนต้องตัดสินใจว่า ในพอร์ตของลูกค้า ควรจะมีหุ้นหรือหลักทรัพย์ใดบ้าง เป็นสัดส่วนเท่าใด และควรจะซื้อหรือขายหุ้นตัวไหนในราคาเท่าไหร่โดยการตัดสินใจลงทุนจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ลูกค้ากำหนด และเป็นไปตามนโยบายการลงทุน (Investment Policy) ของบริษัทด้วย

ในหน่วยงานลงทุนขนาดเล็ก อาจจะมีผู้จัดการกองทุนเพียง 1 – 2 คน แต่ในสถาบันขนาดใหญ่ เช่น กองทุนบำนาญ หรือ ในบริษัทจัดการกองทุนที่มีสินทรัพย์จำนวนมาก อาจจะต้องมีผู้จัดการกองทุน 10 – 20 คน โดยอาจจะแบ่งกลุ่มตามความชำนาญ เช่น ผู้จัดการกองทุนด้านตราสารหนี้ (ดูแลกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้ ฯลฯ) ผู้จัดการกองทุนด้านตราสารทุน (ดูแลกองทุนที่ลงทุนในหุ้น) หรือ ผู้จัดการกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

3. หัวหน้าสายงานลงทุน หรือ Chief Investment Officer (CIO)

มีหน้าที่บริหารทีมงานจัดการกองทุนและบริหารเงินลงทุนในภาพรวม CIO คนหนึ่งอาจจะต้องดูแลพอร์ตของลูกค้าเป็นร้อยบัญชี ตัว CIO จึงต้องคาดการณ์และตัดสินใจว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินแบบนี้ ควรจะนำเงินของลูกค้าไปลงทุนอย่างไร เช่น ควรแบ่งสัดส่วนระหว่างพันธบัตรและหุ้นอย่างไร ควรมีหุ้นต่างประเทศสักกี่เปอร์เซ็นต์ ควรเน้นหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป หรือ เอเชีย เป็นต้น

 

นอกจากงานวิเคราะห์หรืองานจัดการกองทุนแล้ว เส้นทางอาชีพในฝั่ง Buy Side ยังมีให้เลือกอีกหลายอย่าง อาทิเช่น

–      งานบริหารความเสี่ยง (Risk Management) มีหน้าที่บริหารความเสี่ยงในพอร์ตของลูกค้า เพื่อให้มั่นใจว่า ระดับความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงด้านราคา ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ฯลฯ อยู่ในระดับที่เหมาะสม

–      งานกำกับการลงทุน (Compliance) มีหน้าที่กำกับและตรวจสอบว่า การลงทุนในพอร์ตของลูกค้าเป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อกำหนดต่างๆ ที่ลูกค้าให้ไว้

–      งานปฏิบัติการ (Operations) มีหน้าที่ดูแลเรื่องการทำ Settlement การจัดทำบัญชีกองทุน ดูแลฐานข้อมูลลูกค้า รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการลงทุน

–      งานด้านการตลาด (Marketing) มีหน้าที่พัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุนใหม่ๆ และนำกองทุนไปเสนอขายให้กับลูกค้า รวมทั้งบริการหลังการขายต่างๆ

 

สายงานหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจ (Sell Side)

ในสายงานหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจ มีงานให้เลือกทำค่อนข้างหลากหลาย และมีหลายตำแหน่งที่เป็นงานในฝันของหนุ่มสาวจำนวนมาก ขอแนะนำให้รู้จักกับอาชีพในสายงานหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจ ดังนี้

 

1. วาณิชธนากร (Investment Banker หรือ IB)

มีหน้าที่ช่วยบริษัทหรือหน่วยงานของรัฐที่ต้องการระดมทุน เสนอขายหลักทรัพย์ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หรือ หุ้น ให้กับผู้ลงทุนเราเรียกธุรกรรมนี้ว่า การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriting) ซึ่งเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นในตลาดแรก (Primary Market) คือ การนำหลักทรัพย์ใหม่มาเสนอขายให้กับผู้ลงทุน

ในประเทศไทย Investment Banker ที่ระดมทุนโดยออกตราสารหนี้ (เช่น พันธบัตร หรือ หุ้นกู้) ส่วนใหญ่จะสังกัดแผนก Debt Capital Market ของธนาคารพาณิชย์ ทั้งธนาคารไทยและธนาคารต่างประเทศ ส่วนInvestment Banker ที่ระดมทุนโดยออกหุ้น ส่วนใหญ่จะสังกัดบริษัทหลักทรัพย์

นอกจากงานหลัก คือ การนำพันธบัตร หุ้นกู้ หรือ หุ้น มาเสนอขายเพื่อระดมทุนแล้ว Investment Banker ยังสามารถช่วยให้คำปรึกษาบริษัทเอกชนในธุรกรรมการเงินอื่นๆ ได้ด้วย เช่น

–      การควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisition หรือ M&A) คือ การให้คำแนะนำบริษัทในการเข้าซื้อบริษัทอื่น โดยอาจจะเป็นบริษัทคู่แข่ง หรือบริษัทที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกัน

–      หุ้นนอกตลาด (Private Equity) คือ การช่วยระดมทุนให้กับบริษัทที่มีขนาดเล็ก หรือบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทเหล่านี้อาจจะไม่สามารถเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป แต่ต้องการเสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุนสถาบันเฉพาะกลุ่ม

 

2. นักค้าหลักทรัพย์ (Traders)

มีหน้าที่นำเงินลงทุนของลูกค้าหรือของบริษัทที่ตนสังกัดไปซื้อ-ขายหลักทรัพย์เพื่อทำกำไรในระยะสั้น โดยอาจจะเป็นการซื้อ-ขาย พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น ตราสารอนุพันธ์เงินตราต่างประเทศ ฯลฯ

ในประเทศไทย เรามักจะพบ Traders ที่ซื้อ-ขายพันธบัตร ตราสารอนุพันธ์ และเงินตราต่างประเทศ สังกัดธนาคารพาณิชย์ ส่วน Traders ที่ซื้อ-ขายหุ้น มักจะสังกัดบริษัทหลักทรัพย์ คนกลุ่มหลังนี้ถูกเรียกว่า Proprietary Trader หรือ Prop Trade คือ คนที่เราเงินของบริษัทหลักทรัพย์ไปซื้อ-ขายหุ้นเพื่อทำกำไรให้กับบริษัท

 

3. เจ้าหน้าที่การตลาด (Marketing Officer)

คือ คนที่เป็นตัวแทนของสถาบันการเงินนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น ฯลฯ ไปแนะนำหรือเสนอขายให้ลูกค้า

ในบริษัทหลักทรัพย์ เจ้าหน้าที่การตลาดเป็นคนที่ติดต่อกับลูกค้าที่เป็นนักลงทุนในหุ้นโดยตรงเพื่อรับคำสั่ง ‘ซื้อ’ หรือ ‘ขาย’ แล้วส่งคำสั่งนั้นไปยังตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งอาจจะให้คำแนะนำในเบื้องต้นกับลูกค้าว่า ขณะนี้ภาวะตลาดเป็นอย่างไร หุ้นตัวไหนน่าลงทุน เป็นต้น บริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญ่นิยมแบ่งเจ้าหน้าที่การตลาดออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งดูแลลูกค้าบุคคลหรือลูกค้ารายย่อย อีกกลุ่มหนึ่งดูแลลูกค้าสถาบัน

ในระยะหลัง สถาบันการเงินอื่นๆ ที่ไม่ใช่บริษัทหลักทรัพย์ เริ่มมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินออกขายมากขึ้น เราจึงได้เห็น ‘เจ้าหน้าที่การตลาด’ ที่สังกัดธนาคารพาณิชย์ บริษัทจัดการกองทุน และยังอาจรวมไปถึงตัวแทนขายของบริษัทประกัน โดยเจ้าหน้าที่การตลาดคนหนึ่งอาจจะต้องแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายอย่างให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น หุ้นกู้ หุ้น กองทุนรวมประกันชีวิต ฯลฯ

แนวโน้มที่ดีอีกอย่างหนึ่ง คือเราได้เห็นเจ้าหน้าที่การตลาดของสถาบันการเงินค่อยๆ ปรับบทบาทของตัวเองเป็น “นักวางแผนการเงิน (Financial Planner)” คือ เปลี่ยนจากการแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินว่าลูกค้าควรจะซื้อหุ้นตัวไหน เป็นการวางแผนทางการเงินให้กับลูกค้าแบบครบวงจร เช่น หากลูกค้าตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมีเงิน 10 ล้านบาทในวันที่เกษียณ ลูกค้าจะต้องออมเดือนละเท่าไร นำเงินออมไปซื้อกองทุน หรือ ซื้อประกันแบบไหน เป็นต้น

4. นักวิเคราะห์การลงทุน (Investment Analyst)

มีหน้าที่วิเคราะห์และประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ เช่น ประเมินว่าหุ้นของบริษัท ABC น่าลงทุนไหม ผลประกอบการของบริษัทในอนาคตจะเป็นอย่างไร ควรจะแนะนำให้ซื้อ (buy) ขาย (sell) หรือ ถือลงทุนต่อ (hold) หากแนะนำให้ซื้อ ควรซื้อที่ราคาเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม และจัดทำบทวิเคราะห์เพื่อนำเสนอให้กับลูกค้าของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อย หรือ นักลงทุนสถาบันในประเทศไทย นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะสังกัดแผนกวิจัยของบริษัทหลักทรัพย์

จะสังเกตได้ว่า นักวิเคราะห์มีได้ทั้งฝั่ง buy side และ sell side ซึ่งโดยเนื้องานมีความใกล้เคียงกัน สิ่งที่แตกต่างกันก็คือว่า ลูกค้าของนักวิเคราะห์ฝั่ง buy side คือ ผู้จัดการกองทุนในหน่วยงานที่ตนสังกัด ซึ่งต้องนำข้อมูลการวิเคราะห์ไปตัดสินใจเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุน

investment-career2

ส่วนลูกค้าของนักวิเคราะห์ฝั่ง sell side คือ ลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน ที่ต้องการข้อมูลการวิเคราะห์ไปประกอบการตัดสินใจลงทุน

 

 

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
วิน พรหมแพทย์ เริ่มรับราชการที่สำนักบริหารการลงทุน สำนักงานประกันสังคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง หัวหน้ากลุ่มงานลงทุน รับผิดชอบการลงทุนกองทุนประกันสังคมซึ่งมีเงินลงทุนมากกว่า 1.2 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการลงทุน และเป็นรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม วินจบการศึกษาระดับ ป.ตรี เศรษฐศาสตร์ (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับ ป.โท บริหารธุรกิจจาก Erasmus University ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยได้รับทุนรัฐบาล (ก.พ.) สอบผ่านหลักสูตร Chartered Financial Analyst และมีรายชื่อขึ้นทะเบียนผู้มีคุณสมบัติเป็นผู้จัดการกองทุน (Fund Manager License) วินเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาการเงินที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2549
Posts created 2

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top